f
title
สำนักงานทางหลวงที่ 11
Office Of Highways 11
วิสัยทัศน์ : ระบบทางหลวงที่สะดวกปลอดภัย เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
อวดโฉม ”ทางเลี่ยงเมืองลพบุรีด้านเหนือ” 6,800 ล้าน *ถนนตัดใหม่ 4เลน+ทางต่างระดับ+สะพานสู้น้ำท่วม *วิ่งฉิว 19 กม.เชื่อมด้านใต้ 19 กม.โครงข่ายวงแหวน
ลงวันที่ 30/06/2566
อวดโฉม ”ทางเลี่ยงเมืองลพบุรีด้านเหนือ” 6,800 ล้าน
*ถนนตัดใหม่ 4เลน+ทางต่างระดับ+สะพานสู้น้ำท่วม
*วิ่งฉิว 19 กม.เชื่อมด้านใต้ 19 กม.โครงข่ายวงแหวน
“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์”รายงานว่า ขณะนี้สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง (ทล.) ได้สำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจรทางเลี่ยงเมืองลพบุรี (ด้านเหนือ) ระยะทาง 19.423 กม.วงเงิน 6,800 ล้านบาท แล้วเสร็จ
พร้อมจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา เมื่อได้รับความเห็นชอบจะจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 234 แปลง 801 ไร่ วงเงินค่าเวนคืน 610 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม
รวมทั้งของบประมาณก่อสร้าง คาดว่าเริ่มก่อสร้างปลายปี 69 เปิดบริการปี 72 แนวเส้นทางผ่าน 4 ตำบล 2 อำเภอ ได้แก่ ต.โพธิ์ตiลาดแก้ว อ.ท่าวุ้ง ต.บางขันหมาก ต.โคกกะเทียม และ ต.เขาพระงาม อ.เมืองลพบุรี
จุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณแยกสนามไชย อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี จุดตัดทล.366 (ทางเลี่ยงเมืองลพบุรีด้านใต้)กับ ทล.311 บริเวณ กม.ที่ 11+613 มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือและเบี่ยงแนวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัดผ่านพื้นที่เกษตรกรรม คลองหนองรี ถนนเลียบคลองชลประทาน ทางหลวงชนบทลบ.4132 ถนนท้องถิ่น คลองชลประทาน
ตัดผ่านทางหลวงชนบทลบ.4128 และทางรถไฟสายเหนือ ห่างสถานีโคกกะเทียมไปทางเหนือ 3.6 กม. จากนั้นตัดผ่าน ทล.3196 คลองชัยนาท-ป่าสัก และเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกตัด ทล.3024 บรรจบทล.1 (ถนนพหลโยธิน) กม. 173+100 จุดสิ้นสุดโครงการ
รูปแบบโครงการเป็นถนนตัดใหม่ขนาด 4 ช่องไปกลับ พร้อมก่อสร้างทางแยกต่างระดับ 2 แห่งเพื่อลดจุดตัด 1.จุดเริ่มต้นโครงการบริเวณจุดตัดทล.311 (แยกสนามไชย) และ2.จุดสิ้นสุดโครงการบริเวณจุดตัดถนนพหลโยธิน โดยสร้างสะพานและทางเลี้ยวเพื่อระบายการจราจร
พร้อมออกแบบสะพานบกหรือสะพานยาวต่อเนื่อง ความยาวช่วงประมาณ 20-30 เมตร บริเวณตัดผ่านพื้นที่รับน้ำ 2 แห่ง 1.พื้นที่รับน้ำหลากทุ่งท่าวุ้ง และ 2.พื้นที่รับน้ำหลากทุ่งชัยนาทป่าสัก ป้องกันไม่ให้แนวเส้นทางเป็นคันกั้นน้ำและกีดขวางทางระบายน้ำ พร้อมจุดกลับรถ ระบบระบายน้ำ และระบบไฟฟ้าส่องสว่าง
นอกจากนี้ได้นำงานภูมิสถาปัตยกรรมมาออกแบบบริเวณทางแยกต่างระดับทั้ง2แห่ง ด้วยแนวคิดการใช้พันธุ์ไม้พุ่มและพันธุ์ไม้คลุมดินอาทิ ต้นเฟื่องฟ้าเขียวและเข็มเหลือง
ไม่ให้บดบังทัศนวิสัยการขับขี่ และดูแลรักษาง่าย ทนทานต่อสภาพแวดล้อม มีประโยชน์ช่วยแบ่งแนวเขต สร้างกรอบสายตานำไปสู่จุดหมายที่ต้องการเพิ่มชีวิตชีวา ไม่ดูแห้งแล้งเกินไป
เนื่องจากพื้นที่เมืองลพบุรี มีการขยายตัวด้านเศรษฐกิจสูงมาก การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้ความต้องการเดินทางสูงขึ้น ขณะนี้ทล.ได้ขยายทางเลี่ยงเมืองลพบุรีด้านใต้จาก2 ช่องเป็น 4 ช่องเสร็จตลอดสาย 19.3 กม.
จึงเตรียมแผนก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองลพบุรีด้านเหนือเพื่อให้เกิดโครงข่ายถนนวงแหวนรอบเมืองลพบุรีเป็นทางเลือกสำหรับผู้เดินทางระยะไกลที่ไม่จำเป็นต้องผ่านเขตตัวเมืองลพบุรี
อย่างไรก็ตามโครงการเข้าข่ายต้องจัดทำอีไอเอเนื่องจากแนวเส้นทางพบโบราณสถาน ได้แก่ ศาลาตาหลวง และวัดสนามไชย
ทล. จึงว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด และบริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด เริ่มดำเนินงานวันที่ 18 ก.พ.65-13 พ.ค.66 ระยะเวลาศึกษา 15 เดือน งบศึกษา 25 ล้านบาท

'